ณัทกร เกษมสำราญ นิสิตบัณฑิตศึกษาระดับปริญญาเอก ภาควิชาวิศวกรรมไฟฟ้า คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นำสิ่งประดิษฐ์และนวัตกรรมร่วมจัดแสดงนิทรรศการในงาน “วันนักประดิษฐ์” ประจำปี 2567 พร้อมร่วมนำผลงานวิจัยต้นแบบชุดกล้องนับเซลล์เม็ดเลือดถวายแด่ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ประกอบด้วย
“ไมโครซิสดีซีเอ็น” : การประยุกต์ใช้โครงข่ายประสาทเพื่อตรวจจับเซลล์หลายชนิดผ่านกล้องจุลทรรศน์เชิงซ้อนด้วยตัวรับรู้ภาพ (MicrosisDCN : The Application of Neural Network to Detect Multiple Cells via Compound Microscope with Image Sensor.) วิทยานิพนธ์ระดับปริญญาโท อาจารย์ที่ปรึกษา ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สุรีย์ พุ่มรินทร์ โครงการนี้ได้รับทุนสิ่งประดิษฐ์ กองทุนรัชดาภิเษกสมโภช จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้รับรางวัลผลงานนวัตกรรมสายอุดมศึกษา ระดับดีเด่น, รางวัลการเขียนข้อเสนอผลงานนวัตกรรมสายอุดมศึกษา ระดับดี, และรางวัลเหรียญทอง ประจำปี 2563 จากสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) และรางวัล Gold Medal ในกลุ่มเรื่อง Class M : Medicine – Surgery – Orthopedics – Material for disabled จากงาน “The 48th International Exhibition of Inventions Geneva” ปี 2566
และ “ไมอีโลซอฟต์” : การพัฒนาระบบนับเซลล์เม็ดเลือดขาวที่ผิดปกติผ่านสมาร์ทโฟนโดยใช้โครงข่ายประสาทเทียมชนิดคอนโวลูชัน (Myelosoft : Development of Abnormal Leukocyte Counting System via Smartphone using Convolutional Neural Network.) หัวข้อดุษฎีนิพนธ์ระดับปริญญาเอก อาจารย์ที่ปรึกษา รองศาสตราจารย์ ดร.วันเฉลิม โปรา และ รองศาสตราจารย์ นพ.เอกพันธ์ ครุพงศ์ โครงการนี้ได้รับทุนวิจัย เงินงบประมาณแผ่นดิน : การยกระดับนักประดิษฐ์เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน Innovation to Business (I-2B) ปี 2566 สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ได้รับรางวัลผลงานนวัตกรรมสายอุดมศึกษา ระดับดีเด่น, รางวัลการเขียนข้อเสนอผลงานนวัตกรรมสายอุดมศึกษา ระดับดีเด่น, และรางวัลเหรียญทอง ประจำปี 2565 จากสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) และรางวัล Gold Medal ในกลุ่มเรื่อง Class M : Medicine – Surgery – Orthopedics – Material for disabled จากงาน “The 48th International Exhibition of Inventions Geneva” ปี 2566
งาน “วันนักประดิษฐ์” ประจำปี 2567 ระหว่างวันที่ 2-6 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2567 จัดงานขึ้นภายใต้แนวคิด “สิ่งประดิษฐ์และนวัตกรรม นำประเทศ” โดยสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม มีสิ่งประดิษฐ์ที่มาจากนักประดิษฐ์ไทย และนักประดิษฐ์นานาชาติจาก 30 องค์กรนานาชาติ รวมกว่า 1500 ผลงาน ณ Event Hall 100 – 102 ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค บางนา